คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ นอนกรน ตรวจที่ไหน รักษาอย่างไร

38415 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ นอนกรน ตรวจที่ไหน รักษาอย่างไร

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ วิชญ์ บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine,
Certified international sleep specialist

  ปัจจุบันมีผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ โดยเฉพาะนอนกรนจำนวนมาก และหลายรายมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการวินิจฉัยและรักษา บทความนี้จึงทำการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอคำตอบที่อาจเป็นประโยชน์ดังนี้

  นอนกรน อันตรายไหม เมื่อไหร่ควรจะพบแพทย์?
ผู้ที่มีปัญหานอนกรนดังมากเป็นประจำ หายใจไม่สะดวกเวลานอน หายใจติดขัดคล้ายหยุดหายใจ สำลักสะดุ้งตื่น เข้าห้องน้ำบ่อยกลางคืน คอแห้ง ปวดศีรษะตอนเช้า นอนหลับไม่เต็มอิ่ม รู้สึกไม่สดชื่น ง่วงนอนมากในเวลากลางวันทั้งที่ใช้เวลานอนมาก หรือมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ และโรคอ้วน สำหรับเด็กนอนกรน นอนกระสับกระส่าย หายใจลำบาก  คัดจมูกเป็นประจำต้องอ้าปากหายใจบ่อย ๆ มีปัสสาวะรดที่นอน พฤติกรรมซุกซนก้าวร้าว หรือมีผลการเรียนแย่ลงหรือเติบโตช้ากว่าวัย เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) นอกจากนี้หากมีพฤติกรรมการนอนผิดปรกติอื่น ๆ  เช่น แขนขากระตุก  นอนกัดฟัน นอนละเมอ ฝันร้าย หรือสะดุ้งตื่นเป็นประจำ ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคจากการหลับ เพื่อรักษาและป้องกันผลแทรกซ้อนในระยะยาว

  จำเป็นต้องตรวจ sleep test ทุกรายหรือไม่?
การทดสอบการนอนหลับ (sleep test) เป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของ โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) และปัญหาความผิดปกติจากการหลับอีกหลายอย่าง โดยช่วยวางแผนและช่วยในการตัดสินใจทางเลือกในการรักษา   เช่น อาจใช้ในการตั้งค่าแรงดัน (pressure titration) ในกรณีที่ต้องรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (positive airway pressure หรือ PAP) หรือใช้สำหรับการปรับระยะของอุปกรณ์ในช่องปาก  (oral appliances)  นอกจากนี้ยังใช้ในการช่วยพิจารณาเลือกวิธีผ่าตัดทางเดินหายใจและใช้ติดตามผลการรักษา โดยส่วนมากผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับ โดยเฉพาะนอนกรนมักต้องทำ sleep test อย่างไรก็ตามในหลายกรณีอาจไม่จำเป็นต้องตรวจ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคจากการหลับจะเป็นผู้ประเมินและให้ช่วยพิจารณาให้

  ควรตรวจ sleep test แบบไหน?
ปัจจุบันมีการตรวจ sleep test หลายประเภท โดยทั่วไปนิยมแบ่งเป็น 4 ประเภท (ประเภทที่ 1-4) แต่อาจแบ่งตามสถานที่ตรวจ เช่น ตรวจที่โรงพยาบาลในห้องแลป (แบบมาตรฐานดั้งเดิม) และตรวจที่บ้านหรือโรงแรม (sleep test from home ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน) แบ่งตามนแบบที่มีอุปกรณ์ตรวจอย่างละเอียดครบและแบบประหยัด (ข้อมูลน้อยกว่า และไม่มีคลื่นไฟฟ้าสมองซึ่งบอกระยะการหลับ) หรือแบ่งตามลักษณะการมีเจ้าหน้าเฝ้าและไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้า อย่างไรก็ตามทุกประเภทควรมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคจากการหลับซึ่งได้รับการรับรองจากแพทยสภา (certified sleep specialist)เป็นผู้ดูแลและแปลผล และควรได้รับการตรวจโดยเจ้าหน้าที่เทคนิคที่ได้รับประกาศนียบัตรจากสมาคมที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ทั้งนี้ผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ หัวใจล้มเหลว โรคลมชัก โรคหลอดเลือดสมอง หรือผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น เด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี สามารถตรวจที่บ้านผู้ป่วยเองหรือสถานที่ที่ปลอดภัยได้ อย่างไรก็ตามหากสุขภาพไม่แข็งแรง หรือมีโรคประจำตัวหลายอย่าง ควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาเลือกประเภทการตรวจเป็นราย ๆ ไป เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นผลตรวจที่เชื่อถือได้ และมีความปลอดภัยในการนำไปใช้เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

  รักษานอนกรนทุกคนต้องใช้ CPAP หรือไม่?
เนื่องจากการรักษานอนกรนเป็นการรักษาแบบเฉพาะบุคคล (personalized therapy) แต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ระดับความรุนแรง อาการ ผลการตรวจร่างกาย ผลการทดสอบการนอนหลับ สาเหตุของโรค และโรคร่วม รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ เฉพาะบุคคล และข้อดี ข้อเสียของการรักษาแต่ละวิธีซึ่งได้ผลในแต่ละคนไม่เหมือนกัน การใช้เครื่อง CPAP หรือ continuous positive airway pressure เป็นเพียงการรักษาที่ได้ผลดีวิธีหนึ่งในการรักษานอนกรน และ โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงและง่วงกลางวันมากผิดปกติ และมีผล sleep test บ่งชี้ถึงระดับความรุนแรง รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ที่อ้วนมาก และอื่น ๆ ก่อนการรักษาด้วย CPAP ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจ sleep test และวินิจฉัยโดยแพทย์ก่อน (ไม่ควรซื้อเครื่องมาใช้เองโดยไม่ได้รับการตรวจ) เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนต้องการแรงดันเพื่อการขยายทางเดินหายใจและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการนอนหลับไม่เท่ากัน หากตั้งค่าและดูแลไม่ถูกต้องจะเกิดผลแทรกซ้อนที่อันตรายได้ ผู้ป่วยบางรายที่ไม่เหมาะกับการใช้ CPAP อาจใช้ทางเลือกอื่น ๆ ที่เหมาะสมกว่าในการรักษาได้

  เลือกการรักษานอนกรนด้วยวิธีไหนได้บ้าง ?
การรักษานอนกรนเป็นการรักษาแบบเฉพาะบุคคล (personalized therapy) ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ระดับความรุนแรง อาการ ผลการตรวจร่างกาย ผลการทดสอบการนอนหลับ สาเหตุของโรค และโรคร่วม รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ เฉพาะบุคคล และข้อดี ข้อเสียของการรักษาแต่ละวิธี ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่อยากใช้ CPAP หรือไม่เหมาะกับการใช้ CPAP อาจพิจารณาทางเลือกการรักษาอื่น ๆ เช่น การใช้อุปกรณ์ในช่องปาก (oral appliances) การผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนบน (upper airway surgery) ปัจจุบันมีหลายวิธี เช่น  การใช้คลื่นวิทยุ การผ่าตัดแก้ไขผนังกั้นช่องจมูก การตัดทอลซิล การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน การผ่าตัดเลื่อนกระดูกขากรรไกรบนล่างมาด้านหน้า และบางรายอาจรักษาด้วยยาหรือทางเลือกอื่น เช่น ยาพ่นจมูก เครื่องกระตุ้นประสาท การฝึกกล้ามเนื้อ และอื่น ๆ

  เมื่อไหร่ต้องผ่าตัดรักษานอนกรน?
การผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนบน (upper airway surgery) เป็นการรักษานอนกรน และโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) อย่างหนึ่งมีจุดประสงค์เพื่อ แก้ไขโครงสร้างขนาดของช่องทางเดินหายใจส่วนบน หรือเพิ่มความตึงตัวของเนื้อเยื่อในตำแหน่งที่เป็นสาเหตุของโรค ซึ่งอาจแก้ไขเพียงตำแหน่งเดียวหรือหลายตำแหน่งขึ้นอยู่กับปัญหาของผู้ป่วยแต่ละคนที่แตกต่างกัน แพทย์จะใช้ผล sleep test ประเมินทางเดินหายใจส่วนบนอย่างละเอียด เพื่อหาตำแหน่ง ระดับความรุนแรง ลักษณะและส่วนประกอบของทางเดินหายใจส่วนบนที่อุดกั้น โดยอาจใช้วิธีต่าง ๆ เช่น การตรวจร่างกายทางโสต ศอ นาสิก ศีรษะ ใบหน้าและลำคออย่างละเอียด หรือการส่องกล้องภายทางเดินหายใจส่วนบนขณะตื่นหรือขณะหลับโดยการให้ยา และอาจส่งถ่ายภาพรังสีของกะโหลกศีรษะ โดยแพทย์จะพิจารณาว่า ผู้ป่วยเหมาะสมกับการผ่าตัดหรือไม่ และควรผ่าตัดด้วยวิธีใด หรือเตรียมตัวอย่างไร

  ใช้ยาหรืออุปกรณ์อื่น ๆ รักษานอนกรนได้หรือไม่ ?
การรักษาด้วยยาหรือทางเลือกอื่นในการรักษานอนกรน และโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) ส่วนใหญ่ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถใช้การรักษาหลัก เช่น CPAP อุปกรณ์ในช่องปาก การใช้คลื่นความถี่วิทยุ และการผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนบน ทั้งนี้ต้องใช้ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ปัจจุบันมีการรักษาที่ใช้ยาหรือทางเลือกอื่น เช่น ยาพ่นจมูก เครื่องกระตุ้นประสาท การฝึกกล้ามเนื้อ การให้ออกซิเจนเสริม การฝังเข็ม และอื่น ๆ

  สามารถเบิกประกันหรือใช้สิทธิ์การรักษาอะไรบ้าง ?
ปัจจุบันค่าตรวจและรักษานอนกรนและโรคหยุดหายใจขณะหลับ ส่วนใหญ่อาจไม่สามารถใช้สิทธิ์เบิกประกันได้ ปัจจุบันยังไม่สามารถใช้สิทธิ์ 30 บาทรักษาทุกโรค และยังไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ แต่กรณีข้าราชการอาจใช้สิทธิ์การรักษาในโรงพยาบาลรัฐบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลในสังกัดของมหาวิทยาลัยที่มีห้องตรวจการนอนหลับ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้ ค่าใช้จ่ายในการของโรงพยาบาลรัฐจะอยู่ที่ประมาณ 8,000–10,000 บาท (ข้อมูลปัจจุบันแล้วแต่โรงพยาบาล) แต่อาจต้องรอคิวตรวจนานมากจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ส่วนค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลเอกชนอาจอยู่ที่ 12,000-25,000 บาท ส่วนการทดสอบการนอนหลับของคลินิก PHC อยู่ที่ 4,900-9,900 บาท (แล้วแต่โปรโมชั่น) ส่วนค่ารักษาด้วยวิธีต่าง ๆ มีความแตกต่างกันในแต่ละที่ ดังนั้นควรสอบถามรายละเอียดจากสถานพยาบาลนั้นโดยตรง

  บริการของ PHC clinic

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้