30658 Views |
รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิชญ์ บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine
Certified international sleep specialist
นอนกัดฟัน (sleep bruxism) เป็นอาการที่พบบ่อยมากทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาได้หลายอย่าง เช่น ทำให้มีอาการปวดข้อต่อกระดูกขากรรไกรและกล้ามเนื้อ หรือบริเวณหน้าใบหูหลังตื่นนอน หรือเวลาบดเคี้ยวอาหารจะรู้สึกเจ็บปวดข้อขากรรไกรได้ ถ้าเป็นมากอาจทำให้ฟันสึกลึกจนเห็นชั้นเนื้อฟันสีเหลืองเข้ม ทำให้มีอาการเสียวฟันเวลาที่ดื่มน้ำร้อน น้ำเย็น หรือของหวาน นอกจากนี้ยังอาจทำให้นอนหลับไม่สนิทและรบกวนคนรอบข้างอีกด้วย ที่สำคัญอาจพบร่วมกับการนอนหลับผิดปกติ เช่น นอนกรน โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) นอนไม่หลับ ปวดศีรษะเรื้อรัง หรือการเคลื่อนไหวผิดปกติขณะหลับ และอื่น ๆ
สาเหตุของการนอนกัดฟัน
สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเครียด การนอนหลับไม่สนิท การตื่นตัวของสมองบ่อยครั้งขณะหลับ ซึ่งอาจเกิดจากการหยุดหายใจขณะหลับหรือสาเหตุอื่น นอกจากนี้เคยมีทฤษฎีที่เชื่อว่า เกี่ยวข้องกับการเรียงตัวหรือการสบฟันที่ผิดปกติ และทำให้ร่างกายพยายามหาจุดสบฟันใหม่ อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่สนับสนุนชัดเจน
การรักษานอนกัดฟัน
1. การลดความเครียดหรือความวิตกกังวล ด้วยการทำจิตใจให้สบาย อาจทำโดยการนั่งสมาธิ เล่นกีฬา รวมทั้งลดหรืองดการดื่มชา กาแฟ และแอลกอฮอล์
2. การใส่เฝือกสบฟัน (occlusal splint) เพื่อลดการสึกของฟัน โดยลักษณะเฝือกจะเป็นอะคริลิคใสแข็งชิ้นเดียว สวมใสฟันบน (หรือฟันล่าง) เฉพาะเวลานอนหลับ ในบางรายอาจรักษาด้วยการจัดฟัน กรอฟัน หรือถอนฟันตามความจำเป็น
3. ในรายที่มีการนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย อาจใช้อุปกรณ์ในช่องปาก (oral appliance) ชนิดที่ช่วยยืดขากรรไกรมาด้านหน้า ซึ่งจะทำให้แก้ปัญหาได้ทั้งนอนกรนและนอนกัดฟันในเครื่องมือเดียว
4. การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ หรือเพื่อให้กล้ามเนื้อกรามคลายตัวและลดการทำงาน โดยอาจใช้วิธีรับประทานหรือฉีด
5. การฉีดโบท็อก (botulinum toxin) เข้ากล้ามเนื้อกรามที่ทำหน้าที่บดเคี้ยว เพื่อทำให้กล้ามเนื้อลดการทำงานหรือคลายตัวมากขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ยังสามารถใช้งานหรือเคี้ยวอาหารได้ใกล้เคียงปกติ
6. การใช้เครื่องมือ biofeedback สำหรับทำพฤติกรรมบำบัด โดยใช้เครื่องมือที่สามารถส่งสัญญาณในรูปแบบของกระแสไฟฟ้าที่ไม่เป็นอันตราย เพื่อให้ผู้ป่วยพอรู้สึกตัวได้และหยุดนอนกัดฟัน แต่ไม่ถึงกับทำให้ตื่น
บริการของ PHC clinic