การทดสอบการนอนหลับ (Sleep test)

  การทดสอบการนอนหลับ (sleep test) เป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องใช้เพื่อ วิเคราะห์การทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายขณะนอนหลับ เช่น ระบบการหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือด การทำงานของสมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ และใช้สังเกตพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นขณะหลับด้วย ปัจจุบัน sleep test ได้รับการยอมรับว่า เป็นการตรวจมาตรฐาน (gold standard) สำหรับการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องกับการหลับหลายอย่าง โดยเฉพาะ โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) และโรคหรือพฤติกรรมที่ผิดปกติอื่น ๆ ขณะหลับ     

  เมื่อไหร่จึงควรรับการตรวจ sleep test
ข้อบ่งชี้ที่สำคัญของการตรวจ sleep test ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหานอนกรนดังผิดปรกติ ผู้ที่มีอาการง่วงนอนกลางวันหรืออ่อนเพลียเหมือนหลับไม่เต็มอิ่ม ผู้ที่มีอาการหายใจลำบากหรือมีลักษณะการหยุดหายใจขณะหลับ ตลอดจนผู้ที่มีพฤติกรรมการนอนผิดปรกติอื่น ๆ  เช่น แขนขากระตุก  นอนกัดฟัน นอนละเมอ ฝันร้าย หรือสะดุ้งตื่นเป็นประจำ โดยผู้รับการตรวจควรได้รับการวิเคราะห์ผลจาก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคจากการหลับซึ่งได้รับการรับรองจากแพทยสภา (certified sleep specialist) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เพียงพอ เชื่อถือได้ และสามารถนำไปใช้พิจารณาทางเลือกสำหรับการรักษาต่อไป

  ประโยชน์ของการตรวจ sleep test
การตรวจ sleep test เป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น หรือ OSA  ซึ่งจะช่วยวางแผนและช่วยในการตัดสินใจทางเลือกในการรักษา   เช่น อาจใช้ในการตั้งค่าแรงดัน (pressure titration) ในกรณีที่ต้องรักษาด้วย เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (positive airway pressure หรือ PAP) การปรับระยะของอุปกรณ์ในช่องปาก  (oral appliances) และยังใช้ในการช่วยพิจารณาเลือกวิธีผ่าตัดทางเดินหายใจ หรือใช้ติดตามผลการรักษา ตลอดจนช่วยในการวินิจฉัยโรคจากการหลับอื่น ๆ อีกด้วย 

ประเภทของการตรวจ sleep test

  การทดสอบการนอนหลับหรือ sleep test (บางครั้งเรียกว่า sleep study หรือ polysomnography) สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามนิยามของสมาคมเวชศาสตร์การนอนหลับของสหรัฐอเมริกา (American Academy of Sleep Medicine หรือ AASM) ดังนี้

  ประเภทที่ 1 การทดสอบการนอนหลับแบบละเอียดในศูนย์ที่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอดคืน (in-lab attended polysomnography หรือเรียกว่า sleep test type 1) การตรวจประเภทนี้ประกอบด้วยการวัดสัญญาณอย่างน้อย 6-7 อย่าง เช่น  การวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง   คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (ลูกตา ใต้คาง และขา) คลื่นไฟฟ้าหัวใจ การวัดระดับออกซิเจนในเลือด การวัดระดับลมหายใจ การเคลื่อนไหวของหน้าอกและท้อง การเคลื่อนไหวของขา และอื่น ๆ (กรณีจำเป็น) โดยส่วนใหญ่วิธีนี้จะทำภายในห้องปฏิบัติการตรวจของศูนย์การนอนหลับ (sleep lab หรือ center) โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตอาการตลอดทั้งคืนที่ผู้ป่วยตรวจ 

  ประเภทที่ 2 การทดสอบการนอนหลับแบบละเอียดโดยไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้า (unattended polysomnography หรือเรียกว่า sleep test type 2) การตรวจวิธีนี้นิยมทำที่บ้าน (home PSG) ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อม ห้องนอนที่ผู้รับการตรวจคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน หรืออาจทำสถานที่พักต่างๆ รวมถึงโรงแรม หรือห้องพิเศษในโรงพยาบาล โดยจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ให้แต่ไม่ได้เฝ้าระหว่างเวลาที่ตรวจ  ลักษณะของการตรวจแบบนี้มีส่วนประกอบและข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือใกล้เคียงกับการตรวจประเภทที่ 1  แต่ประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากไม่มีค่าห้องโรงพยาบาล ไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่เฝ้าค้างคืน และไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง อย่างไรก็ตามวิธีนี้อาจไม่เหมาะกับเด็กเล็ก ผู้มีโรคประจำตัวร้ายแรง หรือผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

  ประเภทที่ 3 การทดสอบการนอนหลับแบบข้อมูลจำกัด (sleep test type 3) บางครั้งอาจเรียกว่า การทดสอบการนอนหลับแบบประหยัด การตรวจนี้มีเพียงการวัดสัญญาณน้อยกว่า 4 อย่าง เช่น วัดระดับลมหายใจ การเคลื่อนไหวของหน้าอกและท้อง การวัดระดับออกซิเจนในเลือด และบางครั้งอาจมีการวัดคลื่นหัวใจร่วมด้วย การตรวจแบบนี้อาจมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าสองประเภทแรก อย่างไรก็ตามผลการตรวจมักได้ข้อมูลและความแม่นยำน้อยกว่า  เนื่องจากไม่ได้วัดคลื่นสมอง จึงไม่สามารถประเมินระยะการหลับและประสิทธิภาพในการนอน อาจใช้ในการตรวจติดตามผลการรักษา หรือตรวจผู้ที่มีโอกาสเป็นโรคบางรา

  ประเภทที่ 4 การตรวจระดับออกซิเจนในเลือดและวัดลมหายใจขณะหลับ (sleep test type 4)  เป็นการตรวจเพียงบางส่วน และได้ข้อมูลไม่เกิน 3 อย่าง จึงเลือกใช้เฉพาะกรณีที่ไม่สามารถตรวจประเภทอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้วได้เท่านั้น  เนื่องจากข้อมูลที่ตรวจได้มักจะไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอสำหรับการยืนยันการวินิจฉัยโรค  

  ควรตรวจ sleep test ประเภทใด
ประเภทของการตรวจ sleep test ควรเป็นประเภทที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการหลับที่ได้รับอนุมัติบัตรหรือวุฒิบัตรจากแพทยสภาควรเป็นผู้ดูแลและแปลผล เช่น ประเภทที่ 1 หรือ 2 และบางกรณีเป็นประเภทที่ 3 โดยแต่ละประเภทควรได้รับการตรวจโดยเจ้าหน้าที่เทคนิคที่ได้รับประกาศนียบัตรจากสมาคมที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ทั้งนี้ผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ หัวใจล้มเหลว โรคลมชัก โรคหลอดเลือดสมอง หรือผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น เด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี สามารถตรวจที่บ้านผู้ป่วยเองหรือสถานที่ที่ปลอดภัยได้ อย่างไรก็ตามหากสุขภาพไม่แข็งแรง หรือมีโรคประจำตัวหลายอย่าง ควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาเลือกประเภทการตรวจเป็นราย ๆ ไป และในใบรายงานแปลผลควรผ่านการรับรองโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการหลับที่ได้รับอนุมัติบัตรหรือวุฒิบัตรจากแพทยสภา เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นผลตรวจที่เชื่อถือได้ และมีความปลอดภัยในการนำไปใช้เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

  บริการของ PHC clinic
คลินิก PHC มีความพร้อมในการให้คำปรึกษาปัญหานอนกรนและ OSA และบริการทำ sleep test ภายใต้การควบคุมดูแลของอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคจากการหลับซึ่งได้รับการรับรองจากแพทยสภา (certified sleep specialist) และเป็น international sleep specialist ที่ได้รับการรับรองจาก American Board of Sleep Medicine จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก โดยการทำ sleep test ของคลินิกส่วนมากจะเป็นประเภทที่ 2 หรือ 3 ซึ่งทำที่บ้านของผู้ป่วย โรงแรม หรือสถานที่ที่ผู้ป่วยสะดวกและปลอดภัย อย่างไรก็ตามกรณีต้องการทำประเภทที่ 1 ทางคลินิกจะแนะนำสำหรับนัดหมายไปทำในโรงพยาบาลที่อาจารย์ปฏิบัติงานอยู่และดูแลแปลผลตรวจให้ได้เช่นกัน (กรณีทำประเภทที่ 1 ค่าใช้จ่ายจะเป็นของโรงพยาบาลซึ่งจะสูงกว่า) ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถทำนัดหมายเพื่อพบอาจารย์ที่คลินิกของเราในเบื้องต้นได้ เพื่อตรวจและประเมินว่าจะเหมาะกับ sleep test แบบใด และควรได้รับการรักษาหลังต่อไปอย่างไร ในกรณีที่ผู้ป่วยแข็งแรงดีและไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง ผู้ป่วยอาจทำ sleep test มาก่อนพบอาจารย์ (ต้องสอบถามเพื่อพิจารณาเป็นราย ๆ ไป) หลังการตรวจถ้าผู้ป่วยต้องการจะส่งใบรายงานผลการตรวจให้ และสามารถนัดพบอาจารย์เพื่ออธิบายผลด้วยตนเองพร้อมทั้งรับการตรวจร่างกายเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป ดังนั้นผู้ป่วยสามารถมีความมั่นใจว่าจะได้รับการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาอย่างถูกต้อง เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยในระยะยาวต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  and  นโยบายคุกกี้