59695 จำนวนผู้เข้าชม |
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ วิชญ์ บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine,
Certified international sleep specialist
คนเราใช้เวลาอย่างน้อยเกือบ 1 ใน 3 ของชีวิตหมดไปกับการนอนหลับ ถ้าการนอนหลับไม่ได้มีความสำคัญเหตุไฉนธรรมชาติจึงกำหนดให้เป็น สัญชาตญาณพื้นฐานเพื่อความอยู่รอดของคนและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ
คนเราต้องนอนหลับไปเพื่ออะไร?
จากการศึกษาเกี่ยวกับสรีรวิทยาขณะนอนหลับพบว่า มีหลายอย่างแตกต่างจากขณะร่างกายตื่น ทำให้มีหลายทฤษฏีเชื่อว่า ธรรมชาติจำเป็นต้องให้คนเรานอนหลับเพื่อจุดประสงค์ต่าง ๆ มากมาย ได้แก่
• ซ่อมแซมร่างกายและสมองให้คืนสภาพหลังใช้งานให้กลับมาเป็นปกติ
• เก็บรักษาหรือถนอมพลังงานในร่างกาย
• ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมภายนอก
• ช่วยรวบรวมและบันทึกความทรงจำ
• รักษาสุขภาพของสมองและประสาท
• รักษาสมดุลของอุณหภูมิของร่างกาย
• รักษาภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง และอื่น ๆ
ควรนอนแค่ไหนถึงจะเพียงพอ?
ความต้องการปริมาณการนอนหลับแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุ สุขภาพพื้นฐาน สภาพจิตใจ หรือความจำเป็นอื่น ๆ โดยทั่วไปแนะนำว่าในผู้ใหญ่ ควรนอนไม่น้อยกว่าวันละ 7 ชั่วโมง ยกเว้นกรณีที่ ก่อนหน้านี้อดนอนมาก่อน หรือกำลังเจ็บป่วย อาจต้องพักผ่อนมากขึ้น (บางครั้งต้องการถึง 9 ชั่วโมง หรือมากกว่า) สำหรับเด็ก โดยทั่วไปแนะนำว่าในเด็ก ควรนอนไม่น้อยกว่าวันละ 9 ชั่วโมง หรือขึ้นอยู่กับช่วงอายุ ยกเว้นกรณีที่ กำลังเจ็บป่วย หรือกรณีอื่น ๆ ตามที่แพทย์แนะนำ การนอนหลับที่น้อยกว่านี้มีแนวโน้มที่จะทำให้มีโรคต่าง ๆ ตามมามากมาย ทั้งต่อระบบหัวใจหลอดเลือด ระบบประสาทและสมอง ระบบภูมิคุ้มกันต่อโรค ระบบฮอร์โมน การเจริญเติบโต พัฒนาการทางสติปัญญา ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และอื่น ๆ
เวลานอนสำคัญไฉน?
เวลานอนที่เหมาะสมของแต่ละคนแตกต่างกันตามวัย และความจำเป็นอื่น ๆ ในชีวิต โดยทั่วไปเวลานอนที่เหมาะสมที่สุด คือ ควรจะสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติภายนอกให้มากที่สุด ถ้าเป็นไปได้ ควรนอนหลับไม่เกินเที่ยงคืน และตื่นนอนไม่เกิน 8 โมงเช้า อย่างไรก็ตามหากความจำเป็นในชีวิตปัจจุบันไม่สามารถทำได้ การจัดสภาพแวดล้อมในห้องนอนที่เหมาะสมในช่วงเวลาที่กำหนดให้นอนจะมีความสำคัญมาก เช่น ทำให้ห้องนอนเงียบและมืดคล้ายกับกลางคืนให้มากที่สุด
นอนหลับอย่างไรจึงจะมีคุณภาพ?
นอกจากควรมีปริมาณและเวลาที่เหมาะสมแล้ว การนอนหลับที่มีคุณภาพจะช่วยป้องกันไม่ให้สุขภาพร่างกายเจ็บป่วย และทำให้คุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ ของคนเราดีขึ้นด้วย การนอนหลับที่มีคุณภาพหรือไม่ อาจประเมินได้จาก ความรู้สึกตัวของเราขณะที่ตื่นนอน และความรู้สึกสดชื่นหรือง่วงนอนในระหว่างวัน ตลอดจนประสิทธิภาพของการทำงาน หรือการเรียนรู้ในวันถัดมานอกจากนี้ยังดูจากอาการความผิดปกติ หรือโรคประจำตัวที่เกิดขึ้นตามมาด้วย ทั้งนี้คุณภาพการนอนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งปัจจัยภายในตัวเอง เช่น นอนกรน นอนกัดฟัน หยุดหายใจ ฝันร้าย เครียด และปัจจัยภายนอกตัวเอง เช่น สิ่งแวดล้อมในห้องนอน ที่นอน หมอน อุณหภูมิ แสง เสียง และอื่น ๆ