นอนกรน ในเด็ก เมื่อลูกรักอาจหยุดหายใจขณะหลับ

6248 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นอนกรน ในเด็ก  เมื่อลูกรักอาจหยุดหายใจขณะหลับ

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ วิชญ์ บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine,
Certified international sleep specialist

  นอนกรนเป็นอาการที่พบบ่อยในเด็ก เสียงกรนเป็นอาการแสดงที่บ่งบอกถึง การตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งอาจเป็นตั้งแต่จมูก คอหอย โคนลิ้น หรือกล่องเสียงบางส่วน ซึ่งมีการหย่อนตัวลงในขณะหลับ เมื่อลมหายใจผ่านเนื้อเยื่อดังกล่าว จึงเกิดการสั่นสะเทือนและมีเสียงกรนดังขึ้น  ซึ่งอาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้หลายอย่าง  โดยเฉพาะถ้ามีโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) จะทำให้มีพัฒนาการไม่ปกติทั้งทางด้านร่างกายและสติปัญญา ผู้ป่วยเด็กที่นอนกรนมากอาจเติบโตช้า มีพฤติกรรมก้าวร้าว สมาธิสั้น (attention deficit) ซุกซนมากผิดปกติ (hyperactive)  บางรายอาจปัสสาวะรดที่นอน หรืออาจมีผลการเรียนแย่ลงและมีปัญหาทางสังคมตามมาได้   

  ในประเทศไทยเคยมีการทำวิจัยพบว่า เด็กนอนกรนเป็นประจำพบประมาณร้อยละ 10 และเด็กที่มีโรคหยุดหายใจขณะหลับจะพบประมาณร้อยละ 1 ของเด็กก่อนวัยเรียนและช่วงประถม

  สาเหตุของนอนกรน 
สาเหตุที่พบบ่อยและสำคัญที่สุด คือ การมีต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์โตเกิน ผู้ป่วยหลายรายอาจมีโรคจมูกอักเสบเรื้อรังจากภูมิแพ้ ภาวะอ้วน โครงหน้าผิดปกติ เช่น หน้าแคบ คางสั้นหรือเล็ก หรือบางครั้งอาจพบโรคทางพันธุกรรม หรือโรคทางสมองและกล้ามเนื้อที่มีผลต่อการหายใจร่วมด้วย


  อาการที่บ่งบอกว่า ควรไปพบแพทย์
ในกรณีที่เด็กมีอาการนอนกรนดังเป็นประจำ นอนกระสับกระส่าย หายใจลำบาก คัดจมูกต้องอ้าปากหายใจบ่อย ๆ  ปัสสาวะรดที่นอนเป็นประจำ หรือมีสมาธิสั้น พฤติกรรมซุกซนก้าวร้าว ผลการเรียนแย่ลง เติบโตช้ากว่าวัย ควรไปพบแพทย์

  ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย
การวินิจฉัยที่แม่นยำต้องอาศัยทั้งประวัติ  การตรวจร่างกายบริเวณศีรษะ ใบหน้า หู คอ จมูก และช่องปากอย่างละเอียด รวมถึงตรวจร่างกายระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง  และอาจต้องมีการส่งตรวจเพื่อสืบค้นเพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์กะโหลงศีรษะด้านข้าง เพื่อดูต่อมอะดีนอยด์และความกว้างของทางเดินหายใจ นอกจากนี้เด็กที่นอนกรนควรได้รับการทดสอบการนอนหลับ (sleep test) เพื่อ ตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด ระบบหายใจ รวมถึงคุณภาพการนอนหลับ ซึ่งสามารถทำในโรงพยาบาล หรือที่บ้านตามความเหมาะสม โดยผู้รับการตรวจควรได้รับการวิเคราะห์ผลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคจากการหลับซึ่งได้รับการรับรองจากแพทยสภา (certified sleep specialist) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เพียงพอ เชื่อถือได้ และสามารถนำไปใช้พิจารณาทางเลือกสำหรับการรักษาต่อไป

  แนวทางการรักษา
1. การดูแลเบื้องต้น ได้แก่ การปรับสุขอนามัยการนอน เช่น ใช้เวลานอนพักผ่อนให้พอเพียง การเข้านอนและตื่นนอนอย่างตรงเวลาสม่ำเสมอ ในรายที่อ้วน หรือ น้ำหนักเกิน ต้องลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

2. ารรักษาด้วยยา เช่น การให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ยารักษาจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือยาแก้อักเสบ ซึ่งต้องเลือกใช้ตามความเหมาะสมและความจำเป็นของผู้ป่วยแต่ละราย

3. การรักษาด้วยการผ่าตัด ปัจจุบันเป็นวิธีมาตรฐานและได้ผลดีมากที่สุด โดยเฉพาะการผ่าตัดทอนซิล(tonsillectomy) และอะดีนอยด์ (adenoidectomy) เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง แต่มีความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนต่ำ และมีผลต่อภูมิต้านทานหรือ การติดเชื้อภายหลังน้อยมาก อย่างไรก็ตามท่านต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน หู คอ จมูก ที่มีประสบการณ์ในการผ่าตัดผู้ป่วยเด็ก เพื่อเลือกวิธีผ่าตัดและใช้เทคนิคที่เหมาะสม

4. การรักษาอื่น ๆ เช่น การรักษาโรคร่วม การใช้เครื่อง CPAP การจัดฟัน การฝึกกล้ามเนื้อ การผ่าตัดอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นทางเลือกกรณีรักษาด้วยวิธีดังกล่าวมาแล้วไม่ได้ผล ซึ่งต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป

  บริการของ PHC clinic

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้