7 คำถามบ่อย เกี่ยวกับการนอนกรน

202 จำนวนผู้เข้าชม  | 

7 คำถามบ่อย เกี่ยวกับการนอนกรน

รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิชญ์  บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine,
Certified International Sleep Specialist

การนอนกรนเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้ใหญ่และเด็ก ซึ่งนอกจากจะรบกวนการนอนของตัวเองและคนรอบข้างแล้ว ยังอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ควรได้รับการดูแล มาดูกันว่า 7 คำถามยอดนิยมเกี่ยวกับการนอนกรนมีอะไรบ้าง

1. นอนกรนเป็นกรรมพันธุ์ไหม?

  มีบางส่วนใช่ - ส่วนหนึ่งของการนอนกรนอาจเกิดจากพันธุกรรม หากพ่อแม่หรือสมาชิกในครอบครัวมีปัญหาการนอนกรน มีโอกาสที่ลูกหลานจะมีปัญหานี้เช่นกัน ตามโครงสร้างของช่องทางเดินหายใจ เช่น จมูกคด ภูมิแพ้ ลิ้นไก่ยาว หรือขากรรไกรเล็ก ช่องคอแคบ อาจถูกถ่ายทอดทางพันธุกรรมและเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการนอนกรนได้ อย่างไรก็ตามการนอนกรนเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมายทั้งด้านพฤติกรรม น้ำหนักเกิน ทอนซิลอักเสบ ภูมิแพ้ เนื้องอก หรือโรคอื่น ๆ ที่เกิดภายหลังได้

2. ทำไมคนถึงนอนกรนเสียงดัง?

  เสียงกรนเกิดจากการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อในช่องคอ เมื่ออากาศไหลผ่านทางเดินหายใจที่แคบลง ปัจจัยที่ทำให้เสียงกรนดังขึ้น ได้แก่ คัดจมูก ทอนซิลโต น้ำหนักตัวที่มากขึ้น ความเหนื่อยล้า การดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอนหรือยาบางชนิด หรือท่านอน เช่น บางรายเป็นมากเวลานอนหงาย เป็นต้น

3. นอนกรนหายได้เองไหม?

  ในบางกรณีที่การนอนกรนเกิดขึ้นชั่วคราว เช่น จากอาการหวัด ภูมิแพ้ หรือความอ่อนเพลีย น้ำหนักขึ้น ตั้งครรภ์ การนอนกรนอาจหายไปได้เองเมื่อสาเหตุเหล่านั้นหมดไป แต่ถ้าการนอนกรนเกิดขึ้นเป็นประจำ อาจเป็นสัญญาณของโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea: OSA) ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษา

4. อาการนอนกรนแก้ยังไง?

  การแก้ไขอาการนอนกรนขึ้นอยู่กับสาเหตุ ชนิด และความรุนแรง ในแต่ละคนแตกต่างกัน เช่น ลดน้ำหนักหากมีภาวะอ้วนเปลี่ยนท่านอนให้นอนตะแคงแทนการนอนหงาย หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และยาบางชนิด รักษาอาการคัดจมูกภูมิแพ้ แต่หากเป็นมากและมี OSA อาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) หรืออุปกรณ์ในช่องปาก (Oral Appliance) หรือแบบไม่ต้องใช้อุปกรณ์ เช่น การออกกำลังกายช่องปากและคอหอย การใช้เลเซอร์ การรักษาด้วยคลื่นความถี่วิทยุ และในบางกรณี อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดซึ่งมีหลายแบบ แต่ละคนจะรักษาแตกต่างกัน

 5. อาการกรนคือการหลับลึกใช่ไหม?

  ไม่ใช่ การนอนกรนไม่ได้หมายความว่ากำลังหลับลึกเสมอไป จริงๆ แล้ว การนอนกรนที่มี OSA ร่วมด้วยอาจทำให้คุณหลับไม่สนิท ตื่นมารู้สึกอ่อนเพลีย และง่วงนอนตอนกลางวัน เนื่องจากสมองต้องตื่นขึ้นเป็นระยะๆ เพื่อกระตุ้นให้หายใจใหม่ ในทางกลับกันหากเป็นการหลับลึก หลายกรณีมักจะไม่กรน

6. คนผอมนอนกรนได้ไหม?

  ได้ แม้ว่าคนอ้วนจะมีแนวโน้มที่จะนอนกรนมากกว่า แต่คนที่มีน้ำหนักตัวปกติหรือผอมก็สามารถนอนกรนได้เช่นกัน ปัจจัยอื่นๆ เช่น โครงสร้างของช่องปากและลำคอ ความผิดปกติของจมูก หรือการใช้ยาที่ทำให้กล้ามเนื้อหย่อนตัว ล้วนมีผลต่อการเกิดอาการนอนกรน

7. อยากรักษานอนกรนให้หายขาดทำยังไง?

  หากอาการนอนกรนส่งผลกระทบต่อคุณหรือคนรอบข้าง และต้องการรักษาให้หาย ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ เพื่อหาสาเหตุของโรค วินิจฉัยประเภทและความรุนแรง โดยแพทย์อาจแนะนำการปรับพฤติกรรม หรือการรักษาที่หลากหลายเฉพาะทางเพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด และเหมาะกับคนไข้แต่ละราย

สรุป: การนอนกรนอาจเป็นเพียงความรำคาญเล็กน้อย หรืออาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรง หากคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการนอนกรนรุนแรง ควรเข้ารับการตรวจและรับคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อหาทางแก้ไขที่เหมาะสมและช่วยให้คุณนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้