76017 จำนวนผู้เข้าชม |
รศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ, RPSGT
American Board of Sleep Medicine
Certified international sleep specialist
เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (PAP หรือ CPAP) คืออะไร
คำว่า PAP ย่อมาจาก positive airway pressure (คนทั่วไปนิยมเรียกว่า CPAP “ซีแพ็บ” หรือ continuous positive airway pressure) เป็นการรักษาที่ได้ผลดีมากวิธีหนึ่งในการรักษานอนกรน และ โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการรุนแรงและง่วงกลางวันมากผิดปกติ โดย PAP หรือ CPAP มีหลักการทำงาน คือ การใช้แรงดันลม (ใช้อากาศปกติในห้อง ไม่ได้มีออกซิเจนเสริม ยกเว้นกรณีจำเป็น) เพื่อเป่าทางจมูก (และหรือปาก) ผ่านคอหอยและโคนลิ้นผ่านไปยังกล่องเสียงก่อนลงปอด โดยแรงดันลมดังกล่าวจะช่วยถ่างขยายทางเดินหายใจส่วนบนไม่ให้มีการอุดกั้นจากการหย่อนตัวขณะหลับ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหายใจได้อย่างเพียงพอและนอนหลับราบรื่นตลอดคืน
ส่วนประกอบของ PAP หรือ CPAP
ปัจจุบันมีเครื่อง PAP หรือ CPAP อยู่หลายประเภท อย่างไรก็ตามแต่ละประเภทจะมีส่วนประกอบหลักต่าง ๆ ของเครื่องคล้ายกัน ได้แก่ 1. ส่วนเครื่องสร้างแรงดันลม (machine) 2. ส่วนหน้ากากและสายรัดศีรษะ (Mask) 3. ส่วนท่อลม (hose) และ 4. อุปกรณ์เสริม (accessories) เช่น เครื่องทำความชื้น (humidifier)
ประเภทของ PAP หรือ CPAP
ปัจจุบันมี PAP หรือ CPAP หลายประเภท ได้แก่
1. PAP แบบตั้งแรงดันลมคงที่ (fixed CPAP) หรือ manual CPAP เครื่องประเภทนี้จะทำงานโดยอัดอากาศตามค่าแรงดันลมที่เหมาะสมและตั้งค่าไว้คงที่โดยแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ (สามารถทำได้หลายวิธี) เครื่องประเภทนี้มักมีราคาประหยัดกว่าประเภทอื่น แต่ต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญปรับแรงดันลมให้เป็นระยะตามความจำเป็น
2. PAP แบบปรับแรงดันอัตโนมัติ (auto-titrating PAP หรือ APAP) หรือ auto-PAP เครื่องประเภทนี้จะปรับค่าแรงดันลมได้อัตโนมัติในช่วงที่กำหนดไว้ โดยแพทย์ต้องตรวจวินิจฉัยและตั้งค่าต่าง ๆ ของเครื่องให้ทำงานตามโปรแกรม (ผู้ป่วยไม่ควรตั้งค่าเองเพื่อความปลอดภัย) ทั้งนี้ผู้ใช้เครื่องประเภทนี้อาจรู้สึกสะดวกสบายขึ้น แต่มักมีราคาสูงขึ้นตาม
3. PAP แบบตั้งแรงดันลม 2 ระดับ (bi-level PAP หรือ BPAP) เครื่องประเภทนี้จะต้องหาค่าแรงดันลมที่เหมาะสมโดยแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ และตั้งค่าไว้ 2 ระดับ คือ แรงดันขณะหายใจเข้าและแรงดันขณะหายใจออก ซึ่งผู้ป่วยที่ใช้ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์เพื่อความปลอดภัย ปัจจุบันเครื่องประเภทนี้มีใช้ในผู้ป่วยเพียงบางโร
วิธีการใช้เครื่อง PAP หรือ CPAP
ก่อนการรักษาด้วย PAP หรือ CPAP ผู้ป่วยต้องได้รับการทดสอบการนอนหลับ (sleep test) เพื่อวินิจฉัยและตั้งค่าต่าง ๆ ของเครื่องโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการหลับที่ได้รับอนุมัติบัตรหรือวุฒิบัตรจากแพทยสภา (board certified sleep specialist) เพื่อความปลอดภัยจากการรักษา เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนต้องการแรงดันเพื่อการขยายทางเดินหายใจและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการนอนหลับไม่เท่ากัน (เครื่องอัตโนมัติ หรือ APAP ก็จำเป็นต้องตั้งค่าต่าง ๆ ที่เหมาะสมให้เครื่องทำงานก่อน ซึ่งแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน) นอกจากนี้ในการใช้งานจริงผู้ป่วยควรทดลองเลือกสวมหน้ากากที่เหมาะสมกับลักษณะใบหน้าของตนเอง ทั้งนี้ส่วนใหญ่แนะนำให้เริ่มทดลองใช้หน้ากากที่ครอบจมูก (nasal mask) หรือหน้ากากแบบสอดจมูก (nasal pillow) ก่อน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจเหมาะกับการใช้หน้ากากแบบครอบทั้งจมูกและปาก (oronasal mask) หรือแบบเต็มหน้า (full face mask) ซึ่งกรณีนี้ท่านควรปรึกษาแพทย์
การใช้เครื่อง PAP หรือ CPAP จะใช้เฉพาะเวลาที่นอนหลับและควรใช้ตลอดทั้งคืนและทุกคืนเท่าที่จะทำได้ (หรือบางครั้งใช้เวลานอนกลางวันด้วยถ้าจำเป็น) จนกว่าจะได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุหรือมีวิธีการรักษาอื่น ๆ ที่แพทย์แนะนำ สำหรับขั้นตอนการใช้เครื่องสามารถทำได้โดยง่าย เช่น สวมหน้ากาก เปิดเครื่อง เช็คระดับแรงดันลม ส่วนรายละเอียดทางเทคนิค เช่น การทำความสะอาด การปรับหน้ากาก การดูแลรักษาเครื่อง หรือการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์บางอย่างที่เสื่อมสภาพตามเวลา จะมีเจ้าหน้าที่เฉพาะช่วยให้คำแนะนำ หลังใช้ควรนำผลการใช้เครื่องมาติดตามดูแลรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นระยะ ๆ ทั้งนี้ผู้ป่วยไม่ควรซื้อเครื่อง มาใช้เองโดยไม่ได้รับการตรวจ sleep test หรือไม่ได้พบแพทย์ เนื่องจากหากตั้งค่าและดูแลไม่เหมาะสมจะเกิดผลแทรกซ้อนที่อันตรายได้
ข้อดีและข้อเสียของการใช้ PAP หรือ CPAP
การรักษาด้วย PAP หรือ CPAP เป็นการรักษานอนกรนและโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น หรือ OSA ที่ได้ผลดีและปลอดภัยหากใช้ตามข้อบ่งชี้และใช้ได้อย่างถูกวิธีภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการหลับ โดยการใช้เครื่องอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจะทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการนอนหลับดีขึ้น ตื่นขึ้นมาสดชื่นขึ้น และง่วงหรืออ่อนเพลียเวลากลางวันลดลง เนื่องจากจะได้รับอากาศและได้พักผ่อนดีขึ้น นอกจากนี้ในระยะยาวอาจช่วยลดความเสี่ยงจากโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ จากโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นได้ อย่างไรก็ตาม PAP หรือ CPAP อาจมีผลข้างเคียง เช่น หากใส่หน้ากากที่ไม่พอดีหรือใช้แรงดันลมไม่พอดีจะทำให้รู้สึกอึดอัดรำคาญและนอนหลับไม่สนิท มีความไม่สะดวกในการเดินทาง บางครั้งตื่นนอนแล้วรู้สึกปากคอแห้ง คัดจมูก น้ำมูกไหล และบางรายอาจมีเลือดกำเดาไหล มีรอยหรือผื่นที่ใบหน้า มีลมแน่นท้อง หรืออื่น ๆ ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยประเมินและดูแลรักษาได้ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย หากไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์อาจมีความเสี่ยงจากการตั้งค่าแรงดันผิดพลาดและทำให้ภาวะของการหยุดหายใจขณะหลับแย่ลงได้
บริการของ PHC clinic