รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิชญ์ บรรณหิรัญ (ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษา นอนกรน)
American Board of Sleep Medicine
Certified international sleep specialist
นอนกรน เป็นอาการที่พบบ่อย เสียงกรนเ ป็นอาการแสดงที่บ่งบอกถึง การตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งอาจเป็นตั้งแต่จมูก คอหอย โคนลิ้น หรือกล่องเสียงบางส่วน ซึ่งมีการหย่อนตัวลงในขณะหลับ เมื่อลมหายใจผ่านเนื้อเยื่อดังกล่าว จึงเกิดการสั่นสะเทือนและมีเสียงกรนดังขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้หลายอย่าง โดยเฉพาะถ้ามี โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA)
นอนกรน เกิดจากอะไร และอะไรคือ สาเหตุของ นอนกรน
สาเหตุของการ นอนกรน
นอนกรน อาจเกิดจากหลายปัจจัยซึ่ง แต่ละคนไม่เหมือนกัน ทำให้การรักษาแตกต่างกัน ได้แก่
1. ปัจจัยทางกายภาพ ได้แก่ โครงสร้างอวัยวะหรือเนื้อเยื่อทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ ตั้งแต่จมูก คอหอย โคนลิ้น หรือกล่องเสียง ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติต่าง ๆ เช่น กะโหลกศีรษะและใบหน้าผิดรูป คางเล็ก คางสั้น ผนังจมูกคด จมูกบวม คัดจมูก ต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์โต ลิ้นไก่ยาว ลิ้นโต หรือบางคนอาจไม่พบความผิดปกติที่ชัดเจน แต่เกิดจากเนื้อเยื่อไขมันมาก เช่น ในคนอ้วนมักไขมันกระจายอยู่ในคอหอย ลิ้น และเพดานอ่อนมากขึ้น ทำให้ทางเดินหายใจถูกเบียดให้แคบลง
2. นอนกรน เกิดจาก ปัจจัยทางสรีรวิทยา มีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
2.1 กล้ามเนื้อลิ้นหย่อน และตกลงไปคอหอยด้านหลังอุดกั้นทางหายใจขณะหลับ
2.2 ระบบหายใจไม่เสถียร การหายใจไม่สมดุลกับออกซิเจนในเลือด ทำให้หยุดหายใจ หรือหายใจติดขัด
2.3 สมองตื่นตัวง่าย เวลามีเสียงกรนหรือหายใจติดขัด จะหลับตื้นขึ้น ทำให้หลับไม่สนิท และง่วงในวันต่อมา
3. ปัจจัยอื่น ๆ เช่น อายุมากขึ้นอาจเป็นมากขึ้น เพศชายมักเป็นรุนแรงกว่าเพศหญิง ฮอร์โมน และอื่น ๆ
ผลรวมจากปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าว ซึ่งแต่ละคนแตกต่างกัน ส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนบนแคบลงจำเป็นต้องหายใจเข้าแรงขึ้น อากาศที่ผ่านเข้าออกจะเสียดสีกับเนื้อเยื่อรอบข้าง จนเกิดการสั่นสะเทือนและมีเสียงกรนเกิดขึ้นตามมา และหากหายใจแรงมากอาจทำให้ทางเดินหายใจยุบ และเกิดการหยุดหายใจจากการอุดกั้นตามมา
แนวทาง การรักษานอนกรน
เนื่องจากแต่ละคนมีปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการนอนกรนแตกต่างกัน ทำให้การรักษานอนกรนแต่ละคนไม่เหมือนกันและต้องใช้ แนวทางการรักษาแบบเฉพาะบุคคล (personalized therapy) ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ระดับความรุนแรง อาการ ผลการตรวจร่างกาย ผลการทดสอบการนอนหลับ (sleep test) สาเหตุของโรค และโรคร่วม รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ เฉพาะบุคคล และข้อดี ข้อเสียของการรักษาแต่ละวิธีซึ่งได้ผลในแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยมีแนวทางคร่าว ๆ ได้แก่
1. การปรับสุขอนามัยการนอน ลดน้ำหนัก งดเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2. การออกกำลังกายช่องปากและคอหอย
3. การรักษาโรคร่วม เช่น จมูกอักเสบภูมิแพ้ ทอลซิลอักเสบ
4. การรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก
5. การใช้อุปกรณ์ในช่องปาก
6. การผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนบน
7. การรักษาด้วยยาหรือทางเลือกอื่น เช่น เครื่องกระตุ้นประสาท
บริการของ PHC clinic
คลินิก PHC มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการนอนหลับ และทันตแพทย์ที่มีชื่อเสียงและประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยนอนกรนมาเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีทีมงานเจ้าหน้าที่เทคนิคการนอนหลับ ทั้งยังมีเครื่องมือสำหรับการตรวจ sleep test และรักษาด้วยวิธีที่หลากหลาย พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการรักษานอนกรนและปัญหาการนอนหลับอื่น ๆ ผู้ป่วยสามารถทำนัดหมายเพื่อพบอาจารย์ที่คลินิกของเราในเบื้องต้นได้ เพื่อตรวจวินิจฉัยและเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ดังนั้นจึงสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย