บอกเลิก CPAP ด้วย "เครื่องกระตุ้นทางเดินหายใจ UAS"

6979 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บอกเลิก CPAP ด้วย "เครื่องกระตุ้นทางเดินหายใจ UAS"

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ วิชญ์ บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine
Certified international sleep specialist
 
"เบื่อกับการใช้ CPAP ตลอดชีวิตหรือไม่" ถ้าใช่ UAS อาจเป็นหนึ่งในคำตอบ สำหรับคนนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ ลองศึกษาดู...

  นอนกรน และ โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) สาเหตุสำคัญเกิดจากการอุดกั้นของช่องคอ โดยเฉพาะบริเวณโคนลิ้นและเนื้อเยื่อเพดานอ่อน จนกระทั่งทำให้ลมหายใจไม่สามารถเข้าออก หรือหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ ขณะนอนหลับ ทั้งนี้เป็นเพราะกล้ามเนื้อและประสาทจะคลายตัวอย่างมากในเวลาดังกล่าว
 
  การกระตุ้นทางเดินหายใจส่วนบน (Upper Airway Stimulation: UAS) เป็นนวัตกรรมการรักษา ที่มีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่อึดอัด ไม่สามารถทน หรือไม่สะดวกในการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกต่อเนื่อง (Continuous Positive Airway Pressure - CPAP)

 หลักการ: UAS เป็นการฝังอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่กระตุ้นเส้นประสาทสมองเส้นที่ 12  (hypoglossal nerve) ซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อลิ้น (genioglossus muscle) การกระตุ้นนี้ช่วยให้ลิ้นเคลื่อนไปข้างหน้าระหว่างการนอนหลับ ป้องกันการอุดกั้นทางเดินหายใจที่เกิดจากการยุบตัวของลิ้น

  ใครคือผู้เหมาะสมได้บ้างสำหรับการทำ UAS
ข้อบ่งชี้ในการรักษา ได้แก่ อายุ 18 ปีขึ้นไป เป็น OSA ระดับปานกลางถึงรุนแรง ดัชนีมวลกาย (BMI) น้อยกว่า 40 กก/ตรม. ไม่สามารถทนต่อการใช้ CPAP และไม่มีลักษณะทางเดินหายใจบางอย่างที่ผิดปกติจากการส่องกล้องขณะหลับ (DISE)

  ขั้นตอนการรักษา
  • การประเมินก่อนการผ่าตัด: ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจการนอนหลับ (sleep test) และการส่องกล้องตรวจขณะหลับ (DISE) เพื่อประเมินความเหมาะสมในการรักษา
  • การฝังอุปกรณ์: อุปกรณ์ UAS จะถูกฝังใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอก โดยมีสายเชื่อมต่อกับเส้นประสาทไฮโปกลอสซัล
  • การเปิดใช้งาน: หลังจากการฟื้นตัวจากการผ่าตัด อุปกรณ์จะถูกเปิดใช้งาน และปรับระดับการกระตุ้นตามความสบายและประสิทธิภาพในการรักษาของผู้ป่วย
  ผลลัพธ์จากการรักษา
การศึกษาทางคลินิกพบว่า UAS สามารถลดดัชนีการหยุดหายใจและหายใจแผ่ว (AHI) ได้ อาการง่วงนอนตอนกลางวันลดลง และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้ป่วยมีความพึงพอใจสูง

  ข้อดีของการรักษาด้วย UAS คือ ไม่ต้องเสียเวลาพกพาและสวมใส่ CPAP หรือทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกวัน นอกจากนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปหน้าจากการผ่าตัดขากรรไกรหรือโครงสร้างทางกายวิภาค และมีความเสี่ยงต่ำจากภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

 ข้อควรพิจาณา การรักษาด้วยวิธีนี้อาจมีค่าใช้จ่ายที่สูง และต้องทำภายใต้การดมยาสลบ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิกการนอนหลับ นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกไม่สบายเล็กน้อยเวลาเครื่องทำงาน อาจเจ็บลิ้น หรือมีแผลด้านล่างของลิ้นซึ่งผลข้างเคียงนี้มักจะดีขึ้น หลังจากมีการปรับการกระตุ้นแล้ว และอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัดเช่นเดียวกันการผ่าตัดอื่น ๆ นอกจากนี้ คือ ไม่ควรให้เครื่องมืออยู่ใกล้เครื่องมือที่สามารถปล่อยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าได้

  การติดตามผลหลังการรักษา  เพื่อประเมินประสิทธิภาพของอุปกรณ์และปรับการตั้งค่าตามความต้องการของผู้ป่วย การติดตามผลมักจะดำเนินการที่ 6 และ 12 เดือนหลังการรักษา การศึกษาระยะยาวแสดงให้เห็นว่าผลลัพธ์ที่ดีสามารถคงอยู่ได้ถึง 18 เดือนหลังการฝังอุปกรณ์ โดยมีอัตราการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงต่ำ


 

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้