เครื่องกระตุ้นทางเดินหายใจ..ความหวังใหม่..รักษานอนกรน

6370 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เครื่องกระตุ้นทางเดินหายใจ..ความหวังใหม่..รักษานอนกรน

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ วิชญ์ บรรณหิรัญ

American Board of Sleep Medicine

Certified international sleep specialist
 

นอนกรน และ รคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากการอุดกั้นของช่องคอ โดยเฉพาะบริเวณโคนลิ้นและเนื้อเยื่อเพดานอ่อน จนกระทั่งทำให้ลมหายใจไม่สามารถเข้าออก ได้อย่างปกติ หรือหยุดหายใจเป็นช่วงๆขณะนอนหลับ ทั้งนี้เป็นเพราะขณะนอนหลับกล้ามเนื้อและระบบประสาทจะคลายตัวอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเข้าสู่ระยะหลับฝัน หรือ REM (อ่านว่า “เร็ม”)

แม้ว่าการรักษาในปัจจุบันมักใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง หรือ CPAP (ซีแพ็บ) อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหลายรายอาจไม่สามารถใช้เครื่องได้จากผลข้างเคียงหรือความอึดอัดไม่สะดวก ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีพัฒนาการทางการแพทย์เพื่อเป็นทางเลือกแบบใหม่ สำหรับการรักษานอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ โดยอาศัยหลัก การใช้เครื่องมือเพื่อปล่อยคลื่นไฟฟ้าขนาดต่ำ ๆ แบบอัตโนมัติตามจังหวะการหายใจ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีคล้ายของเครื่องกระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจ (cardiac pacemakers) และเครื่องกระตุ้นเส้นประสาทแบบอื่นที่ปลอดภัยต่อร่างกาย ปล่อยผ่านทางสายสื่อกระแสมาที่เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงบริเวณโคนลิ้น หรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นประสาทสมองคู่ที่ 12 เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณโคนลิ้นตึงตัวและหดตัวและขยับตัวไปข้างหน้า ซึ่งจะทำให้เปิดทางเดินหายใจระดับหลังโคนลิ้นกว้างขึ้นจากการป้องกันไม่ให้ ลิ้นตกไปด้านหลัง กลไกการทำงานโดยจะมีตัวควบคุมรับ-ส่งสัญญาณฝัง อยู่ที่ผนังทรวงอกข้างหน้าด้านบน ซึ่งทำงานโดยอัตโนมัติและสัมพันธ์กับจังหวะการหายใจของผู้ป่วย โดยที่ผู้ป่วยสามารถควบคุมการทำงานของเครื่องดังกล่าวได้ผ่านทางรีโมท คอนโทรล (remote control) โดยผู้ป่วยเปิดเครื่องมือเองเมื่อกำลังจะนอนหลับ-ปิดเครื่องมือเองได้เมื่อตื่น ในการรักษาวิธีนี้ แพทย์จะลงแผลผ่าตัดทั้งหมด 3 แผลด้วยกัน คือ 1.บริเวณใต้คางเพื่อนำสายกระตุ้นไปวางบนแขนงของเส้นประสาท 2.บริเวณทรวงอกข้างเดียวกันกับแผลแรกประมาณระหว่างกระดูกซี่โครงช่องที่ 4-5 และตำแหน่งที่ 3.บริเวณใต้ต่อกระดูกไหปลาร้าประมาณ 2-4 ซม. ข้างเดียวกัน
 
 ข้อดีของการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นความตึงตัวของทางเดินหายใจวิธีนี้ คือ ไม่ต้องเสียเวลาพกพาและสวมใส่หรือทำความสะอาดเครื่องมือที่ใบหน้าหรือในปากทุกวัน นอกจากนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปหน้าจากการผ่าตัดขากรรไกรหรือโครงสร้างทางกายวิภาค ล่าสุดได้มีการศึกษาประสิทธิภาพของการรักษาวิธีนี้ในโรงพยาบาลชั้นนำใน ทวีปอเมริกาและยุโรปหลายแห่งร่วมกัน พบว่าจากการติดตามผู้ป่วยเป็นระยะเวลา 1 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่รักษาด้วยวิธีนี้ มีการลดลงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  

 ผลข้างเคียงและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษา 
      เท่าที่มีรายงานยังไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรง อย่างไรก็ตามผู้ป่วย อาจมีความรู้สึกไม่สบายเล็กน้อยตรงที่มีสายหรือเครื่องอยู่โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งเวลาเครื่องทำงาน, อาจปวดแผลผ่าตัดและกล้ามเนื้อบริเวณโดยรอบในช่วงแรก, บางรายอาจมีอาการลิ้นอ่อนแรงซึ่งส่วนใหญ่มักจะฟื้นกลับมาเป็นปกติได้ภายใน 2-4 สัปดาห์, ผู้ป่วยอาจเจ็บลิ้น หรือ มีแผลด้านล่างของลิ้น ซึ่งเกิดจากลิ้นเคลื่อนไหวสัมผัสกับฟันล่าง ซึ่งผลข้างเคียงนี้มักจะดีขึ้น หลังจากผู้ป่วยคุ้นเคยกับเครื่องและมีการปรับการกระตุ้นแล้ว, และอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัดเช่นเดียวกันการผ่าตัดอื่น ๆ ในบริเวณนี้ซึ่งพบได้น้อย ข้อควรระวังอื่น ๆ คือ ไม่ควรให้เครื่องมืออยู่ใกล้เครื่องมือที่สามารถปล่อยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าได้
 
 การดูแลเครื่องมือและติดตามการรักษา
      แม้ว่าปัจจุบันเครื่องมือดังกล่าวนี้ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายได้ในประเทศในทวีป ยุโรป และอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาโดยองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐ อเมริกา โดยที่ยังไม่มีในประเทศไทย อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยวิธีนี้เป็นการรักษาทางเลือกใหม่ซึ่ง ผู้ป่วยคนไทยมีโอกาสที่จำนวนไม่น้อยจะได้รับประโยชน์จากการรักษาเช่นเดียว กันในอนาคตอันใกล้ ผู้ป่วยที่สนใจรักษาด้วยวิธีนี้จึงต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญประเมินก่อนว่า มีโอกาสหรือเหมาะสมที่จะใช้วิธีนี้หรือไม่ และต้องติดตามดูผลการรักษาในระยะยาวต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้