การใช้คลื่นความถี่วิทยุจี้เยื่อบุจมูก แก้คัดจมูก นอนกรน

30216 Views  | 

การใช้คลื่นความถี่วิทยุจี้เยื่อบุจมูก แก้คัดจมูก นอนกรน

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ วิชญ์  บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine
Certified International Sleep Specialist  

  การใช้คลื่นความถี่วิทยุ (radiofrequency หรือ RF) จี้เยื่อบุจมูกที่บวมหรือเทอร์บิเนตที่โตเกิน หรือเรียกอย่างย่อว่า RF nose เป็นการรักษาที่นิยมมากสำหรับรักษาอาการคัดจมูก นอนกรน ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาและการปฏิบัติตนพื้นฐาน ขั้นตอนการรักษาทำโดยแพทย์จะใส่เครื่องมือที่เป็นเหมือนเข็มชนิดพิเศษ สำหรับปล่อยพลังงานคลื่นความถี่วิทยุ สอดเข้าไปในเยื่อบุจมูกส่วนที่เรียกว่า เทอร์บิเนตอันล่าง (Inferior turbinate) ผ่านการส่องกล้องภายในจมูก (nasal telescopy) เพื่อให้เกิดความร้อนในเนื้อเยื่อดังกล่าว และกลายเป็นพังผืดเล็กๆ ซึ่งทำให้มีการหดตัวของเยื่อบุจมูก หลังการรักษาผู้ป่วยส่วนมากจะรู้สึกจมูกโล่ง หายใจได้สะดวกขึ้น และนอนกรนลดลง นอกจากนี้อาจทำให้อาการคัน จาม น้ำมูกไหล และเสมหะลงคอลดลงด้วย   การรักษาด้วยความถี่วิทยุหรือ RF สามารถทำได้โดยใช้เพียงยาชาเฉพาะที่ ใช้เวลาทำประมาณ 10-15 นาที (ไม่จำเป็นต้องดมยาสลบและไม่ต้องนอนโรงพยาบาล) บางครั้งแพทย์อาจทำการดันกระดูกเทอร์บิเนตไปด้านข้างร่วมด้วย แผลจากการรักษามีขนาดเพียงเท่ารูเข็ม ไม่สามารถเห็นได้จากภายนอก อาการปวดหรือเจ็บแผลน้อยมาก  ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รับประทานยาแก้ปวด และไม่ต้องหยุดงานหรือหยุดเรียนหลังรักษา (ยกเว้นจำเป็น)

ภาพวาดโดย พญ.รัชรียา สุขเสงี่ยม และ รศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ

ผลของการรักษา
ผลของการรักษาด้วยการใช้คลื่นความถี่วิทยุจี้ในจมูก หรือ RF nose มักเห็นชัดเจน 1-2 สัปดาห์หลังทำ โดยมีงานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า สามารถลดอาการคัดจมูก ลดเสียงนอนกรน และคุณภาพการนอนหลับดีขึ้นได้ หากวินิจฉัยและเลือกผู้ป่วยได้ดีและใช้เทคนิคการทำที่เหมาะสม การใช้คลื่นความถี่วิทยุจี้ในจมูก หรือ RF nose ส่วนมากทำเพียงครั้งเดียว (มากกว่าร้อยละ 80 ไม่ต้องทำซ้ำอีก) อย่างไรก็ตามหากจำเป็นอาจพิจารณาทำซ้ำได้อีกเนื่องจากความเสี่ยงต่ำ

การเตรียมตัวก่อนการรักษา  
ผู้ป่วยควรจะรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เช่น พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันไข้หวัดหรือการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด ต้องหยุดยาก่อน ทั้งนี้ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความพร้อม หรือตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ ตามความจำเป็น

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
โดยทั่วไปหากทำได้อย่างถูกขั้นตอน ความเสี่ยงจากการรักษาด้วยการใช้คลื่นความถี่วิทยุจะมีน้อยมาก มีความเจ็บปวดขณะรักษาน้อย แต่ที่อาจพบ ได้แก่  เลือดออกจากจมูก (เลือดกำเดาไหล) หรือบางรายอาจมีผลข้างเคียงจากยาชาเฉพาะที่ เช่น ใจสั่น  หน้ามืด  เป็นลม หูอื้อ ซึ่งมักหายเอง อย่างไรก็ตามในช่วงแรกหลังรักษา ผู้ป่วยอาจยังรู้สึกคัดจมูก หายใจไม่สะดวก เนื่องจากมักมีน้ำมูก คราบเลือดหรือสะเก็ดแผลอยู่ในจมูก สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้

การปฏิบัติตนและสิ่งที่ควรทราบหลังรักษา 

1. หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังทำประมาณ 20-30 นาที ยกเว้นบางรายที่แพทย์เห็นสมควรให้นอนพักนานขึ้น  
2. ผู้ป่วยจะได้รับยาแก้อักเสบ ยาลดน้ำมูก ยาพ่นจมูก น้ำเกลือล้างจมูก หรืออื่น ๆ แล้วแต่อาการ
3. ผู้ป่วยควรเริ่มล้างจมูกด้วยน้ำเกลือหลังรักษาไปแล้ว 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดสะเก็ดแผล ซึ่งเกิดจากน้ำมูกและคราบเลือดที่ค้างอยู่  โดยสัปดาห์แรกควรล้างจมูกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง  
4. หลังการรักษาสัปดาห์แรก อาการอาจยังไม่ดีขึ้นทันที และอาจมีอาการแสบหรือเจ็บภายในจมูกและมีน้ำมูกหรือ เลือดกำเดาออกเล็กน้อย ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะหายไปเอง ในเวลาต่อมา
5. กรณีมีเลือดออกจากจมูก (เลือดกำเดาไหล) ให้หยุดล้างจมูกชั่วคราว และใช้ยาพ่นจมูกเพื่อห้ามเลือดแทน และนั่งหรือนอนพัก ยกศีรษะสูง แต่ถ้าเลือดออกไม่หยุด แนะนำให้พบแพทย์
6. หลังรักษาผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรมได้ปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ  หรือการกระแทกบริเวณจมูก และควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หักโหมในสัปดาห์แรก

การนัดตรวจติดตามอาการ      
แพทย์จะนัดผู้ป่วยทุกรายมาดูแผลครั้งแรกประมาณ 1 สัปดาห์หลังรักษา และอาจส่องกล้องหรือทำความสะอาดแผลในโพรงจมูก (ถ้ามีสะเก็ดมาก) หลังจากนั้นจะนัดมาเป็นระยะตามความเหมาะสม (อาจเป็นเดือนหรือหลาย ๆ เดือน) หากอาการไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร แพทย์จะแนะนำทางเลือกในการรักษาตามความเหมาะสมต่อไป

 บริการของ PHC clinic

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  and  นโยบายคุกกี้