เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับความผิดปกติ (โรค) ของการนอนหลับ

56633 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับความผิดปกติ (โรค) ของการนอนหลับ

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ วิชญ์ บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine,
Certified international sleep specialist

  ปัจจุบันพบผู้มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับจำนวนมาก โดยหลายรายยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการวินิจฉัยและรักษา ผู้เขียนจึงเรียบเรียงบทความนี้ขึ้น เพื่อให้รู้จัก เข้าใจ และให้ปลอดภัยจากความผิดปกติหรือโรคของการนอนหลับต่าง ๆ

  อาการที่บ่งบอกว่า การนอนหลับน่าจะผิดปกติ
โดยทั่วไปความผิดปกติที่เกี่ยวกับการนอนหลับหรือโรคจากการหลับ (sleep disorder) มักมีลักษณะที่สำคัญอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่ นอนไม่หลับ (insomnia), ง่วงมากผิดปกติ (hypersomnia) และพฤติกรรม (หรือการเคลื่อนไหว) ผิดปกติขณะนอนหลับ (abnormal movement/ behaviors) เช่น นอนกรน นอนกัดฟัน ขากระตุก ขาอยู่ไม่สุข ฝันร้าย ละเมอ ฯลฯ ความผิดปกติหรือโรคจากการหลับอาจแบ่งได้หลายรูปแบบตามสรีรวิทยา อาการหรืออาการแสดง รวมถึงระบบต่าง ๆ ของร่างกายที่เกี่ยวข้อง

  นอนไม่หลับ
นอนไม่หลับ (insomnia) เป็นปัญหาการนอนหลับที่พบบ่อยมากที่สุด นอกจากจะทำให้มีความทุกข์ทรมานแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบอีกหลายอย่าง เช่น ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น ปวดศีรษะ เมื่อยล้า ใจสั่น ขาดสมาธิ ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ซึมเศร้า ร่างกายอ่อนแอลงและเจ็บป่วยง่ายขึ้น และในรายที่รุนแรงอาจมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุจากความง่วงได้ ลักษณะการนอนไม่หลับอาจมีหลายรูปแบบ เช่น หลับยากหลังจากเข้านอน ตื่นบ่อยหรือหลับไม่ต่อเนื่อง บางรายอาจตื่นเช้ากว่าปกติและไม่สามารถหลับต่อได้ หรือบางรายอาจรู้สึกหลับไม่เต็มอิ่มทั้ง ๆ ที่ใช้เวลานอนมาก สำหรับเด็กที่มีอาการนอนไม่หลับ ผู้ปกครองอาจสังเกตเห็นลักษณะบางอย่าง เช่น ไม่อยากเข้านอน ตื่นบ่อยระหว่างคืน ไม่ยอมนอนคนเดียว กลางวันมีสมาธิความตั้งใจในการเรียนหรือสิ่งต่าง ๆ ลดลง หรืออาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว ซุกซน มากกว่าปกติ นอกจากนี้การนอนไม่หลับยังอาจแบ่งตามระยะเวลาของโรคออกเป็นแบบเฉียบพลัน (น้อยกว่า 3 เดือน) หรือแบบเรื้อรัง (นานเกิน 3 เดือน)

  นอนกรน
นอนกรน (snoring) เป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก เกิดขึ้นได้ทุกเพศและทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ เสียงกรนเป็นอาการแสดงของการสั่นสะเทือนเนื้อเยื่อที่บ่งบอกว่า กำลังมีการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งอาจเป็นจมูก คอหอย โคนลิ้น หรือส่วนของกล่องเสียง ซึ่งมีการหย่อนตัวลงเกิดขึ้นในขณะนอนหลับ นอนกรนมีหลายชนิดและหลายระดับความรุนแรง นอกจากจะสร้างความรำคาญจนอาจเป็นปัญหาทางครอบครัวหรือสังคมหรือเสียบุคลิกแล้ว นอนกรนอาจเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งของการหายใจผิดปกติขณะหลับ (sleep disordered breathing) ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพหลายอย่าง

  โรคหยุดหายใจขณะหลับ
การหายใจผิดปกติขณะหลับ (sleep disordered breathing) มีหลายแบบ เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) ซึ่งเป็นแบบพบได้บ่อยที่สุด ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพหลายอย่าง เช่น  อุบัติเหตุจากความง่วงนอน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด อัมพฤกษ์ ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ นอกจากนี้ในเด็กอาจทำให้มีผลเสียต่อพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและสติปัญญา อาจทำให้ผลการเรียนแย่ลง มีพฤติกรรมก้าวร้าว สมาธิสั้น ปัสสาวะรดที่นอน หรือมีปัญหาต่อคนรอบข้างได้  โรคหยุดหายใจขณะหลับจากส่วนกลาง (central sleep apnea หรือ CSA) ซึ่ง พบได้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคสมองและระบบประสาท โรคกล้ามเนื้อ โรคปอด เนื้องอก ได้รับยาหรือสารบางอย่าง หรือผู้ที่ใช้ CPAP บางราย นอกจากนี้ยังอาจพบการหายใจผิดปกติขณะหลับแบบ คาร์บอนไดออกไซด์คั่ง (hypercarbia) และขาดออกซิเจน (hypoxemia) ได้ด้วย   

  นอนกัดฟัน
นอนกัดฟัน (sleep bruxism) เป็นอาการที่พบบ่อยมากทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก อาจก่อให้เกิดปัญหาได้หลายอย่าง เช่น ทำให้มีอาการปวดข้อต่อกระดูกขากรรไกรและกล้ามเนื้อ ปวดบริเวณหน้าใบหูหลังตื่นนอน หรือเวลาบดเคี้ยวอาหารจะรู้สึกเจ็บปวดข้อขากรรไกรได้ ถ้าเป็นมากอาจทำให้ฟันสึกลึกจนเห็นชั้นเนื้อฟันสีเหลืองเข้ม ทำให้มีอาการเสียวฟันเวลาที่ดื่มน้ำร้อน น้ำเย็น หรือของหวาน นอกจากนี้ยังอาจทำให้ปวดศีรษะเรื้อรัง นอนหลับไม่สนิทและรบกวนคนรอบข้างอีกด้วย

  ง่วงมากผิดปกติ
ง่วงมากผิดปกติ (hypersomnia) เช่น มีอาการง่วงเวลากลางวันมากผิดปกติ หรือง่วงผิดเวลาทำให้ไม่สามารถเรียนหรือทำงานได้ปกติ และที่สำคัญคือ เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุร้ายแรงได้ อาจเกิดจากสาเหตุที่เป็นโรคของการนอนหลับได้ เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น โรคลมหลับ นอนไม่เป็นเวลา ขาอยู่ไม่สุข หรือโรคทางร่างกาย เช่น โรคสมองเสื่อม โรคลมชัก หรือการได้รับยาหรือสารบางอย่าง หรืออื่น ๆ หากมีปัญหาง่วงมากผิดปกติต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุและรักษาอย่างถูกต้อง

  โรคลมหลับ
โรคลมหลับ (narcolepsy) เป็นโรคที่เกิดจากสมองหลั่งสารเคมี hypocretin หรือ orexin ที่ช่วยกระตุ้นประสาทลดลง ผู้ป่วยจะมีอาการคือ ง่วงมากผิดปกติจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างน้อย 3 เดือน และบางรายอาจรู้สึกมีกล้ามเนื้ออ่อนเวลาที่ตื่นเต้นหรือหัวเราะมาก ๆ หรือมีลักษณคล้ายผีอำ (sleep paralysis) คือ การไม่สามารถขยับตัวหรือแขนขาได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ในขณะที่กำลังเคลิ้ม และอาจรู้สึกเหมือนมีภาพ เสียง หรือรู้สึกเหมือนมีมดไต่ตามตัวขณะหลับกำลังจะหลับ (hypnagogic hallucination) ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุร้ายแรง จึงต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการทดสอบการนอนหลับ (sleep test) และตรวจ multiple sleep latency test (MSLT) เพื่อวินิจฉัยและรักษา

  นอนละเมอ
นอนละเมอ (parasomnia) เป็นพฤติกรรมขณะหลับที่เกี่ยวข้องกับสมองและระบบประสาท ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อตนเองและคนรอบข้าง เช่น อุบัติเหตุ การบาดเจ็บ คุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี และอาจเป็นสัญญาณของการทำงานผิดปกติของสมองและระบบประสาทบางอย่างได้ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม หรือโรคลมชัก การนอนละเมออาจแบ่งเป็นหลายประเภทตามระยะการหลับ และลักษณะพฤติกรรมหรือปฏิกิริยาทางร่างกายที่เกิดขึ้น เช่น ละเมอเดิน ละเมอชกต่อย ละเมอกินอาหารแปลก ๆ ฝันร้าย ผีอำ ปัสสาวะรดที่นอน และอื่น ๆ

  ขากระตุกขณะหลับ
ขากระตุกขณะหลับ (periodic leg movement in sleep) เป็นการเคลื่อนไหวผิดปกติที่สัมพันธ์กับการหลับอย่างหนึ่ง  ซึ่งก่อให้เกิดปัญหานอนไม่หลับ หลับไม่สนิท หรือง่วงมากผิดปกติในขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ สาเหตุอาจเกี่ยวข้องกับโรคหยุดหายใจขณะหลับ โรคทางสมองและระบบประสาท หรือผลของยาและสารบางอย่างที่มีในร่างกายมากหรือน้อยเกินไป การวินิจฉัยโรคนี้ต้องอาศัย การทดสอบการนอนหลับ (sleep test) ที่บันทึกภาพถ่ายวิดีโอ

  โรคขาอยู่ไม่สุข
โรคขาอยู่ไม่สุข (restless legs syndrome) มีลักษณะที่สำคัญคือ ผู้ป่วยรู้สึกเหมือนมีการกระตุ้นให้ขยับขา เนื่องจากความรู้สึกไม่สบายที่ขา มักพบในเพศหญิง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นหรือแย่ลงในเวลาช่วงเย็น หัวค่ำ หรือใกล้เวลานอน ขณะที่กำลังพักผ่อน เช่น นอนหรือนั่ง โดยอาการนี้จะดีขึ้นเมื่อเขย่าขา ยืดขา หรือเดินไปมา และมักแย่ลงอีกเมื่อหยุดขยับ ทำให้อาจเป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับ หรือมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันอื่น ๆ สาเหตุของโรคนี้เชื่อว่าเกี่ยวกับความผิดปกติของสารเคมีในร่างกายบางอย่าง โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ การขาดธาตุเหล็ก การได้รับยาบางชนิด การตั้งครรภ์ โรคไตวายเรื้อรัง การไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน การวินิจฉัยอาจต้องใช้การเจาะเลือดร่วมด้วย

  นอนหลับและง่วงผิดเวลา
การนอนหลับผิดเวลาอาจเกิดจากความเคยชินหรืออุปนิสัย ลักษณะการทำงาน หรือความจำเป็นอื่น ๆ ทำให้ไม่ถูกสุขอนามัยการนอนหลับ แต่บ่อยครั้งอาจเป็นอาการของโรคจังหวะรอบวันในการหลับตื่น (circadian rhythm sleep-wake disorder: CRSWD) ซึ่งอาจทำให้นอนไม่หลับในเวลาที่ควรจะหลับ หรือง่วงมากผิดปกติในเวลาที่ควรจะตื่น ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ตัวอย่างควรผิดปกติกลุ่มนี้ได้แก่ Jet lag ซึ่งเกิดจากการเดินทางด้วยเครื่องบินข้ามเขตเวลาต่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง, อาชีพทำงานเป็นกะ (shift work) เกิดจากการทำงานที่ต้องเปลี่ยนเวลานอนบ่อย, นอนดึกมากและตื่นสายมาก (delayed sleep-wake phase disorder), ง่วงนอนเร็วและตื่นเช้ามาก (advanced sleep-wake phase disorder) และอื่น ๆ ความผิดปกติเหล่านี้บางครั้งเกี่ยวข้องกับโรคทางสมอง โรคทางจิตเวช โรคตา หรือปัญหาทางพัฒนาการในเด็ก หรืออื่น ๆ

  นอนหลับผิดปกติจากโรคทางกาย
โรคทางกายหลายอย่าง เช่น โรคลมชัก โรคกรดไหลย้อน โรคกระดูกและกล้ามเนื้อ โรคหัวใจขาดเลือด ต่อมลูกหมากโต โรคไหลตาย โรคทางพันธุกรรมบางโรค หรือการได้รับยาหรือสารบางชนิด มีความสัมพันธ์กับการนอนหลับและทำให้การนอนหลับผิดปกติได้ในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งไม่ควรมองข้ามไป เนื่องจากการรักษาโรคเหล่านี้จะทำให้นอนหลับดีขึ้นได้

  บริการของ PHC clinic

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้