14083 จำนวนผู้เข้าชม |
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ วิชญ์ บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine,
Certified international sleep specialist
การใช้คลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency หรือ RF) จี้เพดานอ่อน (soft palate) เป็นการรักษา นอนกรน และโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) ที่นิยมมากในปัจจุบัน การรักษาวิธีนี้ทำโดยที่แพทย์จะใส่เครื่องมือซึ่งเป็นเข็มชนิดพิเศษแทงเข้าไปในเนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อน จากนั้นจะปล่อยคลื่นความถี่วิทยุผ่านทางหัวเข็มเข้าไปในเนื้อเยื่อ เพื่อเปลี่ยนเป็นความร้อนและทำให้เนื้อเยื่อเพดานอ่อนเกิดเป็นพังผืดและมีการหดตัว ซึ่งจะทำให้ ทางเดินหายใจกว้างขึ้นและมีการสั่นสะเทือนขณะหายใจน้อยลง วิธีนี้มีความเสี่ยงต่ำสามารถทำได้โดยใช้เพียงยาชาเฉพาะที่ ใช้เวลาประมาณเพียง 5-10 นาที (ไม่ต้องดมยาสลบ และไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหลังรักษา) ยกเว้นบางรายที่ต้องอยู่เพื่อสังเกตอาการ แผลที่เกิดขึ้นจะอยู่ในช่องคอใต้เยื่อบุผิวเพดานอ่อน และมักมีขนาดเล็ก อาการปวดหรือเจ็บแผลหลังผ่าตัดน้อย ส่วนใหญ่จะทำเพียง 1-2 ครั้ง แต่อาจพิจารณาทำเพิ่มได้ตามความเหมาะสม
ผลการรักษา
ผลของการรักษาด้วยการใช้คลื่นความถี่วิทยุจี้เพดานอ่อน หรือ RF palate จะเริ่มเห็นผลประมาณ 2 สัปดาห์หลังทำและจะได้ผลมากที่สุดประมาณ 6 สัปดาห์ โดยมีงานวิจัยยืนยันว่า สามารถลดเสียงนอนกรน และความรุนแรงของ OSA รวมถึงทำให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้นได้ หากวินิจฉัยและเลือกผู้ป่วยได้ดีและใช้เทคนิคการทำที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามในระยะยาวอาจมีอาการกลับมาเป็นซ้ำและอาจพิจารณาทำซ้ำได้อีกตามความจำเป็น หรือใช้ทางเลือกอื่นร่วมด้วย
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
ผู้ป่วยควรจะรักษาสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ ซึ่งอาจทำให้ต้องเลื่อนการรักษา ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยาบางชนิด เช่น แอสไพริน หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด ต้องหยุดยาก่อนผ่าตัดหลายวัน ดังนั้นจึงต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินความพร้อมของผู้ป่วยก่อน และบางครั้งอาจต้องตรวจเลือดหรืออื่น ๆ
ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
การรักษาด้วยความถี่วิทยุนี้ โดยทั่วไปพบได้น้อยและไม่รุนแรง เช่น อาจมีเลือดออกซึ่งมักมีปริมาณน้อยและหยุดได้เอง หรือบางรายอาจรู้สึกหายใจไม่สะดวกจากการบวมของทางเดินหายใจหลังรักษา สำหรับบางรายอาจมีผลข้างเคียงจากยาชาเฉพาะที่ (ใช้ยากลุ่มเดียวกับที่ใช้รักษาทำฟัน หรืองานทันตกรรม) เช่น แพ้ยาชา ใจสั่น หน้ามืด วิงเวียน ซึ่งมักเป็นชั่วคราวและหายได้เองอย่างรวดเร็วเมื่อยาหมดฤทธิ์ อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หรือลมชัก อาจมีความเสี่ยงจากการรักษาสูงขึ้นกว่าคนปกติ
การปฏิบัติตนและสิ่งที่ควรทราบหลังรักษา
1. ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังรักษาประมาณไม่เกิน 30 นาที ยกเว้นบางรายแพทย์อาจสังเกตอาการนานขึ้น
2. ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บคอได้เล็กน้อย ส่วนมากไม่เกิน 1 สัปดาห์ อาจใช้ยาแก้ปวด หรือยาแก้อักเสบเท่าที่จำเป็น
3. ในสัปดาห์แรกผู้ป่วยบางรายอาจมีทางเดินหายใจบวมขึ้น ทำให้หายใจไม่สะดวก และนอนกรนอาจยังไม่ดีขึ้น ดังนั้นในช่วงแรกควรนอนศีรษะสูงขึ้นเล็กน้อย อมน้ำแข็งบ่อยๆ และไม่ควรรับประทานอาหารรสจัดหรือเผ็ดร้อน
4. ควรรักษาความสะอาดในช่องปากอย่างสม่ำเสมอ เช่น บ้วนปากและแปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร
การนัดตรวจติดตามอาการ
หลังรักษาประมาณ 1 สัปดาห์ แพทย์จะนัดมาดูแผลครั้งแรก เพื่อประเมินผลการรักษาและภาวะแทรกซ้อน หลังจากนั้นอาจนั้นอีกประมาณ 3-4 สัปดาห์ถัดมา ในกรณีถ้าการนอนกรน หรือหยุดหายใจขณะหลับไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาทางเลือกในการรักษาอื่น ๆ ที่เหมาะสมต่อไป
บริการของ PHC clinic