24364 จำนวนผู้เข้าชม |
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ วิชญ์ บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine
Certified International Sleep Specialist
การผ่าตัดตกแต่งผนังกั้นช่องจมูก (septoplasty) เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้รักษานอนกรน และโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีผนังกั้นช่องจมูกคด (deviated nasal septum) และมีอาการคัดจมูกร่วมด้วย โดยทั่วไปการผ่าตัดวิธีนี้ปัจจุบันจะนิยมภายใต้การดมยาสลบ เริ่มจากการเปิดแผลขนาดเล็กประมาณ 1 ซม. ภายในช่องจมูกผ่านการส่องกล้อง และเย็บปิดด้วยไหมละลาย ดังนั้นจึงไม่มีแผลหรือรอยผ่าตัดให้เห็นภายนอก (ยกเว้นบางราย เช่น กรณีศัลยกรรมปลายจมูกหรือปีกจมูกร่วมด้วย) การผ่าตัดนี้อาจทำร่วมกับการใช้คลื่นความถี่วิทยุจี้เยื่อบุจมูก (RF nose) หรือการผ่าตัดไซนัสได้
ผลการรักษา
มีงานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า หากวินิจฉัยและเลือกผู้ป่วยได้ดีและใช้เทคนิคการทำที่เหมาะสม การผ่าตัดนี้สามารถลดอาการคัดจมูก ลดเสียงนอนกรน ลดอาการง่วงกลางวันและช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนหลับดีให้ขึ้นได้ โดยปกติจะทำผ่าตัดเพียงครั้งเดียว (มากกว่าร้อยละ 90 ไม่ต้องทำซ้ำอีก)
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
เนื่องจากการผ่าตัดส่วนใหญ่ต้องทำภายใต้การดมยาสลบ ดังนั้นก่อนการผ่าตัดแพทย์จะใช้ผลการทดสอบการนอนหลับ (sleep test) และมีการประเมินทางเดินหายใจส่วนบนอย่างละเอียด เพื่อหาตำแหน่ง ระดับความรุนแรง ลักษณะและส่วนประกอบของทางเดินหายใจส่วนบนที่อุดกั้น โดยอาจใช้วิธีต่าง ๆ เช่น การตรวจร่างกายทางโสต ศอ นาสิก ศีรษะ ใบหน้าและลำคออย่างละเอียด หรือการส่องกล้องภายทางเดินหายใจส่วนบน นอกจากนี้ต้องมีการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรืออื่น ๆ เพื่อประเมินความพร้อมของสุขภาพผู้ป่วย โดยเฉพาะหากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหลายอย่าง อาจต้องเตรียมพร้อมเป็นพิเศษ เช่น การเตรียมห้องพักฟื้น หรือต้องหยุดยาบางชนิดล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เช่น หยุดยาแอสไพริน ยาละลายลิ่มเลือด และอาหารเสริมบางอย่างที่อาจมีผลต่อการผ่าตัดและการดมยาสลบ ในวันผ่าตัดจะต้องงดน้ำและอาหารล่วงหน้าอย่างน้อย 6-7 ชั่วโมง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ และผู้ป่วยบางรายจะได้รับการตัดขนจมูกบริเวณที่จะผ่าตัด
ความเสี่ยงของการผ่าตัด
โดยทั่วไปมักไม่รุนแรงและพบน้อย อาจแบ่งความเสี่ยงจากการผ่าตัดโดยตรง ความเสี่ยงจากการดมยาสลบ และความเสี่ยงจากโรคประจำตัวของผู้ป่วยที่มีอยู่เดิม ตัวอย่างความเสี่ยง เช่น เลือดออก (เลือดกำเดาไหล) หายใจติดขัด ติดเชื้อหลังผ่าตัด มีสะเก็ดน้ำมูกแห้ง ๆ เกิดรูทะลุของผนังกั้นช่องจมูก (มองไม่เห็นจากภายนอก) อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่รุนแรงเช่น การมีดั้งจมูกยุบ น้ำไขสันหลังรั่วพบได้น้อยมาก ดังนั้นก่อนผ่าตัดจะมีศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ และทีมพยาบาลหรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะให้คำแนะนำข้อมูลต่าง ๆ และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยซักถามข้อกังวลสงสัย เมื่อผู้ป่วยพร้อมและเข้าใจกระบวนการต่าง ๆ จะมีการลงนามในเอกสารแสดงความยินยอมเข้ารับการผ่าตัดต่อไป
การดูแลรักษาหลังผ่าตัด
แนวทางการดูแลหลังผ่าตัดขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละราย หลังผ่าตัด จะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลหลังผ่าตัด 1-2 วัน เพื่อให้น้ำเกลือและให้ยาทางหลอดเลือดดำ และเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ จนกระทั่งผู้ป่วยรับประทานอาหารได้มากขึ้น และมีความพร้อมในการออกจากโรงพยาบาล ผู้ป่วยบางรายจะยังมีท่อยางขนาดเล็กใส่คาในรูจมูก 1-2 ข้าง ใส่ต่อไปเป็นเวลา 3-7 วันแล้วแต่กรณี แม้ว่าผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดแผลไม่มาก แต่อาจยังมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และมีเลือดกำเดาออกในช่วงแรก อย่างไรก็ตามทุกรายจะได้รับยาแก้อักเสบ ยาลดน้ำมูก ยาพ่นหรือหยอดจมูก และอื่น ๆ ตามความจำเป็น โดยควรหยุดพักฟื้นต่อที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ ระหว่างนี้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรง ๆ หลี่กเลี่ยงการแคะจมูกหรือการกระทบกระเทือนบริเวณจมูก งดออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก งดการเล่นกีฬาหักโหม หรือยกของหนักหลังผ่าตัด กรณีที่มีเลือดออกจากจมูกหรือไหลลงคอ ควรนอนพัก ยกศีรษะสูง และหยอดยาหรือพ่นยาทางจมูกเพื่อห้ามเลือดที่แพทย์สั่งไว้ แต่ถ้าเลือดออกมากควรมาโรงพยาบาล
การนัดตรวจติดตามอาการ
แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาดูแผลครั้งแรกภายใน 1-2 สัปดาห์แรกหลังรักษา และอาจต้องส่องกล้องหรือทำความสะอาดแผลในโพรงจมูก (ถ้ามีสะเก็ดมาก) หลังจากนั้นประมาณ 1-2 วัน จะให้ผู้ป่วยเริ่มล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออุ่นเพื่อทำความสะอาดแผลเอง และจะนัดผู้ป่วยมาเป็นระยะ ๆ ตามความจำเป็น ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจนัดทำการทดสอบการนอนหลับอีกครั้งวางแผนการรักษาต่อไป