การรักษาด้วยยาหรือทางเลือกอื่น ๆ_รักษานอนกรน

16306 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การรักษาด้วยยาหรือทางเลือกอื่น ๆ_รักษานอนกรน

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ วิชญ์  บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine
Certified International Sleep Specialist  

  การรักษาด้วยยาหรือทางเลือกอื่นในการรักษานอนกรน และโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) อาจใช้ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนใหญ่ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถใช้การรักษาหลัก เช่น CPAP อุปกรณ์ในช่องปาก การใช้คลื่นความถี่วิทยุ และการผ่าตัดทางเดินหายใจส่วนบน ปัจจุบันมีการรักษาที่ใช้ยาหรือทางเลือกอื่น ที่พอมีหลักฐานทางการแพทย์รับรอง ได้แก่

1. ยารักษาโรคจมูก เนื่องจากผู้ป่วยนอนกรนและ OSA อาจมีอาการคัดจมูก และพบโรคจมูกอักเสบเรื้อรังหรือภูมิแพ้ร่วมกันบ่อย ดังนั้นการใช้ยารักษาโรคเหล่านี้จึงมีส่วนช่วยให้นอนกรนและ OSA ดีขึ้นในทางตรงและทางอ้อมไม่มากก็น้อย โดยมีรายงานการวิจัยว่า การใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกสามารถช่วยลดอาการคัดจมูก นอนกรนและความง่วงในเวลากลางวันได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น และอาจช่วยให้ผู้ป่วยหลายรายสามารถใช้ PAP ได้ดีขึ้น สำหรับในเด็กการใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกร่วมกับยารับประทานแก้ภูมิแพ้อาจช่วยให้อะดีนอยด์มีขนาดเล็กลงและอาการดีขึ้ได้ และบางรายอาจพิจารณาใช้ยาที่มีฤทธิ์หดหลอดเลือดแบบใช้เฉพาะที่ ซึ่งยานี้จะออกฤทธิ์ได้เร็วและมีประสิทธิภาพในการลดอาการคัดจมูกดีมาก แต่ต้องใช้เพียงชั่วคราวหรือระยะสั้น (ไม่ควรใช้ติดต่อกันโดยไม่หยุดเกิน 1 สัปดาห์) เพื่อไม่ให้ดื้อยาหรือมีอาการแย่ลงภายหลัง ทั้งนี้การใช้ยาที่มีฤทธิ์หดหลอดเลือดจะช่วยทำนายการตอบสนองของการจี้ความถี่วิทยุหรือการผ่าตัดจมูกได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินก่อนเสมอ ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงจากยาได้

2. ยากระตุ้นระบบประสาท  มีที่ใช้ประโยชน์ในผู้ป่วย OSA ที่ยังมีความง่วงเหลืออยู่มากแม้ว่าจะได้รับการรักษาด้วยทางหลักมาแล้ว โดยที่ตรวจไม่พบสาเหตุจากความผิดปกติทางด้านอื่น ตัวอย่างเช่น ยากลุ่ม amphetamine หรือ modafinil  อย่างไรก็ตามยาดังกล่าวอาจพบผลข้างเคียงได้หลายอย่าง จึงควรใช้ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ

3. ยากระตุ้นการหายใจ มีฤทธิ์เพิ่มการหายใจโดยผ่านการกระตุ้นให้เกิดกรดจากการเผาผลาญ เช่น ยา acetazolamide อาจใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคหยุดหายใจบางรายที่มีลักษณะเฉพาะ อย่างไรก็ตามอย่างไรก็ตามยาดังกล่าวอาจพบผลข้างเคียงได้หลายอย่าง จึงควรใช้ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ

4. การใช้อุปกรณ์ช่วยปรับท่านอน  (positional therapy) การรักษาวิธีนี้อาจใช้เป็นการรักษาเสริมในผู้ป่วยที่ปฏิเสธการรักษาหลักในผู้ป่วยที่นอนกรนหรือเป็น OSA ชนิดที่สัมพันธ์กับท่านอนหงาย ปัจจุบันมีการพัฒนาอุปกรณ์หลายประเภท อย่างไรก็ตามผลการรักษาระยะยาวยังไม่แน่นอน ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์และควรได้รับการทดสอบการนอนหลับ (sleep test) ก่อนว่าเป็น OSA ชนิดใดก่อนรักษา ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาโรคที่ไม่ถูกต้อง

5. การรักษาด้วยการฝึกกล้ามเนื้อ (myofunctional therapy) หรือการออกกำลังกายกล้ามเนื้อบริเวณคอหอย (oropharyngeal muscle exercise) มีจุดประสงค์เพื่อ ทำให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนแข็งแรงและมีคงตัวอยู่ได้ขณะหลับ ลดอาการนอนกรนและ OSA บางรายอาจช่วยให้การหายใจทางจมูกดีขึ้น และนอกจากนี้อาจช่วยทำให้ขากรรไกรล่างและรูปหน้าดีขึ้น วิธีนี้สามารถทำได้หลายแบบทั้งมีอุปกรณ์หรือไม่ใช้อุปกรณ์ร่วมด้วย อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานการวิจัยรับรองผลในระยะยาว ไม่มีข้อมูลในคนไทย และยังไม่มีรูปแบบได้รับการยอมรับว่าเป็นมาตรฐาน ก่อนทำการรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจึงต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับและได้รับการทำ sleep test เพื่อความปลอดภัยจากการรักษาโรคที่ไม่ถูกต้อง    

6. การรักษาด้วยเครื่องสร้างแรงดันลบในช่องปาก (oral pressure therapy) มีลักษณะเป็นการใส่เครื่องมือในปาก ซึ่งจะมีท่อต่อไปยังเครื่องสร้างแรงดันลบ (แรงดูด) ซึ่งจะช่วยให้ลิ้น เพดานอ่อน และลิ้นไก่ ถูกดึงไปทางด้านหน้าในขณะที่หุบปากขณะนอนหลับ ส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้น อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานการวิจัยรับรองผลในระยะยาว ไม่มีข้อมูลในคนไทย และอาจมีผลข้างเคียงจากการรักษา ก่อนทำการรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจึงต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับและได้รับการทำ sleep test เพื่อความปลอดภัยจากการรักษาโรคที่ไม่ถูกต้อง    

7. การให้ออกซิเจนเสริม (oxygen supplementation) อาจพิจารณาให้อย่างระมัดระวัง  เพื่อเป็นการรักษาเสริมในผู้ป่วยที่ใช้ CPAP ในระดับแรงดันที่เพียงพอแล้ว ยังมีออกซิเจนในเลือดต่ำเกินไปน้อย เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือโรคอื่น ๆ อย่างไรก็ตามวิธีนี้อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการแย่ลง ดังนั้นก่อนรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจึงต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับและได้รับการทำ sleep test เพื่อความปลอดภัยจากการรักษาโรคที่ไม่ถูกต้อง    8. การฝังเข็ม (acupuncture) เป็นการรักษาที่อยู่ในกลุ่มการแพทย์ทางเลือกผสมผสาน มีรายงานผลการศึกษาในต่างประเทศ อย่างไรก็ตามวิธีนี้ยังไม่ทราบกลไกรักษาที่แน่ชัด ไม่มีข้อมูลในคนไทย และยังไม่มีรายงานผลวิจัยในระยะยาว


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้